Saturday, March 24, 2012

Tablet PC กับการจัดการศึกษา

2 comments
 
จากนโยบายของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ที่ได้แถลงต่อ ที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 มีนโยบายข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศก็คือ นโยบายการแจก Tablet PC ประจำตัวนักเรียน หรือ ที่เรียกว่า One Tablet Per Child โดยจะเริ่มทยอยแจก เริ่มที่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ และช่องทาง สำหรับการเรียนยุคใหม่

โดยเนื้อแท้ นโยบายของรัฐบาลดังกล่าว เป็นแนวคิดที่จะนำเอาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามาประยุกต์ใช้ กับการเรียนรู้ ของนักเรียนในอีกรูปแบบ โดยการใช้ Tablet PC มาเป็นเครี่องมือในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาหาความรู้ ฝึกปฏิบัติ และสร้างองค์ความรู้ต่างๆตามศักยภาพและความพร้อม ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวนี้ มีบ้างแล้วในต่างประเทศหลายประเทศ สำหรับแถบเอเซียก็มี เกาหลีใต้ หรือ อินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนอยู่บ้าง ในสถานศึกษา ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาบางแห่ง


 ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูอยู่ในวงการศึกษามาเกือบทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนถึงสอนในระดับปริญญา และเป็นผู้หนึ่งที่ใช้เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร เป็นเครื่องมือ และช่องทาง ในการจัด ในการสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ พบว่า กระบวนการจัดการศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วยแกนของเทคโนโลยีจริงๆ อาศัยแค่ Device ซึ่งในที่นี้ก็คือ Tablet PC นั้น คงไม่เพียงพอ แม้ว่าจะได้ทราบข่าวว่า มีการเตรียมการพัฒนาตัว Content ซึ่งทราบว่า จะอยู่ในสภาพของ e-paper (แปลสภาพจากหนังสือ แบบเรียน ที่อยู่ในรูปกระดาษ มาเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์) ก็ไม่ได้สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้เท่าใดนัก ส่วนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบ interactive ในรูปของ LO หรือ Learning Object ซึ่งถือเป็นสื่อเรียนรู้ที่มีพลังในการตรึงพฤติกรรมการเรียนรู้ได้ยาวนานขึ้นนั้น คงต้องใช้เวลา ในการผลิต อีกทั้งต้นทุนในการดำเนินการผลิตในแต่ละเนื้อหา หรือบทเรียนค่อนข้างสูง จากองค์ประกอบ 2 ประการข้างต้น ก็ยังไม่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มผู้เรียนได้ ยังมีองค์ประกอบอื่นๆที่สำคัญอีก เรามาศึกษาถึงองค์ประกอบกันอย่างละเอียด
1. Device
จากการที่ได้เกริ่นนำไปแล้วว่าการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยี สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ อุปกรณ์ ซึ่งอุปกรณ์หลักในที่นี้ ก็คือ Tablet PC แต่ในความเป็นจริงแล้ว็คงไม่ใช่จะมีเฉพาะแค่ตัว Tablet PC เท่านั้น ยังต้องมีอุปกรณ์ที่เป็นองค์ประกอบสนับสนุนต่างๆ อีกหลายๆอย่าง อาทิ อุปกรณ์สำหรับแพร่สัญญาณ WiFi อุปกรณ์ระบบการเชื่อมต่อเครือข่าย ชุดคอมพิวเตอร์ สำหรับ backup กิจกรรม งานการเรียนการสอน รวมถึงแต่ละสถานศึกษาต้องมี Tablet PC สำรองไว้เพื่อทดแทนกรณีตัวที่ผู้เรียนชำรุด
สรุป Device ที่จำเป็น หมายถึง
  1. Tablet PC
  2. Computer set
  3. Network System
  4. อุปกรณ์ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย WiFi
  5. ชุดอุปกรณ์สนับสนุนระบบต่อพ่วงต่างๆ

2. Content
ในส่วนนี้หมายถึงเนื้อหา ที่ใช้ในการเรียนการสอน จะอยู่ในรูปของไฟล์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย

  1. e-Paper ไฟล์เอกสารหนังสือที่ถูกเปลี่ยนสภาพจากกระดาษ มาเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์
  2. LO : Learning Object ก็คือหน่วยการเรียนรู้เฉพาะเรื่อง ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบขิงไฟล์ Streaming multimedia interactive
  3. Web-based จะเป็นเอกสารเว็บที่ถูกพัฒนา รองรับการเรียนรู้เมื่อเชื่อมต่อกับเครือข่าย
  4. e-Knowledge Sheet ก็คือใบงานอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมทางการศึกษา

3. Teacher & Instructor
 ตรงส่วนนี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนของสถานศึกษา ซึ่งครูต้องมีความชำนาญในการใช้งานอย่างดี แต่ สภาพจริงๆ เชื่อได้ว่า มีครูผู้สอนใช้ Tablet PC เป็น คงมีไม่กี่เปอร์เซนต์ ดังนั้นเพื่อให้การจัดการศึกษา ในรูปแบบนี้ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามลักษณะเฉพาะของ Device ต้นสังกัดจะต้องเตรียมความพร้อมให้กับครู ใน 2 ด้าน คือ 
  1. ความรู้ในการใช้งาน Tablet PC  
  2. ความรู้กระบวนการ เทคนิควิธีการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพผ่าน Tablet PC

  
4. InfraStructure

 จากการที่มีนโยบายสร้าง content ในลักษณะ
e-paper และ LO นั้น คาดว่าคงเป็นการเตรียมการเฉพาะปีแรก ซึ่งก็คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเมื่อนักเรียน เรียนในชั้นที่สูงขึ้น ก็จำเป็นต้องมีแบบเรียนเพิ่ม ซึ่งการเพิ่มเติมบทเรียน คงไม่ทำแบบ update ผ่านกระบวนการ offline ไปทีละเครื่องแน่ ดังนั้นการ update ผ่านระบบ online ก็ต้องพึ่งพาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อีกทั้งการเรียนรู้ก็คงไม่จำกัดเฉพาะสาระในตัว Tablet PC เท่านั้น คงต้องเปิดโอกาสให้ไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ซึ่งตัว tablet PC จำเป็นต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตไร้สายหรือ WiFi ซึ่งในสถานศึกษาหลายแห่ง ระบบไร้สายยังไม่ได้ทำการติดตั้งและระบบไร้สายที่ต้องรองรับการใช้ Tablet PC หลายๆเครื่องก็ต้องมีระบบ ประสิทธิภาพ ความเร็วที่สอดคล้องกับขนาดของสถานศึกษา รวมถึงต้องรองรับช่องสัญญาณที่เสถียรภาพด้วย ที่สำคัญระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายจะต้องมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ด้วยการกำหนดสิทธิ์ การจัดการเครือข่าย และการเก็บข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ ตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
สรุป Infrastruture ที่จำเป็น หมายถึง ระบบโครงข่ายของภาครัฐ ระบบเครือข่ายภายในสถานศึกษา
5. Technicial Service
เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า Tablet PC มีความเปราะบางต่อแรงตกกระแทก รวมถึงฝุ่น ความชื้น โดยเฉพาะน้ำยิ่งอยู่ในมือเด็กด้วยแล้ว ปัจจัยนี้จะเป็นปัญหาที่น่าคิด แม้ว่าสถานศึกษา จะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้ แต่สภาพความเป็นจริง ตัวเครื่อง Tablet PC และอุปกรณ์สนับสนุนอื่นๆ คงต้องมีการชำรุดเสียหายไปตามสภาพและกาลเวลา สถานศึกษา เกือบทุกแห่งขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ในเรื่องการดูแล แก้ไขปัญหา


ซึ่งคงเป็นปัญหาใหญ่อีกประการที่คงต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคนิค หรือดำเนินการพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ คงต้องจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับซ่อมบำรุง รวมถึงตัว Tablet PC ไปทดแทน กรณีที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมด้วย เพื่อไม่ให้ระบบการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องพลาดโอกาส




ซึ่งงานนี้ นับว่าเป็นโจทย์สำคัญที่ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. ต้องคิด และเตรียมการวางแผน อย่างรอบครอบ เพื่อให้การจัดการศึกษา ที่ใช้ Tablet PC เป็นอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่ใช้ในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมรับมือจากปัญหาต่างๆที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้น ในภาคเรียนแรกของปี 2555 ที่มีการใช้ Tablet PC ในสถานศึกษา แต่จากการเตรียมความพร้อม ตามที่ เลขา สพฐ. ได้กล่าว ตามข่าว ก็น่าจะมั่นใจในระดับหนึ่งถึงความพร้อมในการเตรียมการณ์
และจากโครงการในครั้งนี้  สำนักงาน กศน. ก็ได้รับการจัดสรร Tablet PC จำนวน 1,000 เครื่อง ซึ่งทางสำนักงาน กศน. จะบรรจุเนื้อหาสาระหลักสูตร กศน. แล้วจัดเฉลี่ยนส่งให้แต่ละจังหวัด นำไปไว้ในรถโมบาย เคลื่อนที่ เพื่อให้บริการไปยัง กศน.ตำบลต่างๆ ในพื้นที่ ที่รับผิดชอบ

2 Responses so far.

  1. suwat says:

    อีกหนึ่งกระแสของการนำ ICT มาใช้ในการจัดการศึกษา เรามาลุ้นกันว่า พฤษภาคม ทั้ง hardware และ software รวมถึงครูผู้สอน มีความพร้อมไหม

  2. ปัญหาใหญ่อีกประการที่คงต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคนิค หรือดำเนินการพัฒนาบุคลากร สำหรับซ่อมบำรุง

Leave a Reply

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ


สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ

ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand
สุวัฒน์ ธรรมสุนทร
ข้าราชการบำนาญ สำนักงาน กศน.




ข้อเสนอแนะจากเพื่อนสมาชิก Facebook