ในช่วงเวลานี้ ผู้คนที่อยู่ท่ามกลางโลกไอที น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก Smart Phone ซึ่งนับวัน กำลังจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ที่อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆให้ชีวิตคนในสังคมเมือง หากต้องตัดสินใจในการมี Smart Phone เราจะมีวิธีเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเรา การลงทุนซื้อมาราคาสูง แต่ใช้เพียงแค่โทรออก หรือรับสาย อาจจะไม่คุ้มค่า บทความนี้เขียนจากประสบการณ์จริง ในการเลือกมี เลือกใช้ของผู้เขียนในมุมมองที่อิงเทคโนโลยีต่างๆ
เรามาดูกันว่าหากคิดจะมี Smart Phone ใหม่ หรือจะมีเพิ่ม ควรมีหลักในการเลือกซื้ออย่างไร ให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ขึ้นอยู่กับความชอบ ในรูปลักษณ์ ในแบรนด์ ในงบวงเงินที่ตั้งใจจะซื้อ และสุดท้ายดูที่เทคโนโลยีที่ต้องรองรับการใช้งานเครือข่ายเดิม หรือเครือข่ายที่จะเลืกใช้
ถ้าจะมามองถึงด้านเทคโนโลยี ก็คงต้องศึกษา เรียนรู้เรื่องคุณลักษณะเฉพาะ แต่ขอบอกว่า อย่าตามติดเทคโนโลยี เพราะเราจะไม่มีวันตามทัน แต่ควรเลือก Smart Phone ที่เป็นระบบภาพรวม ท่ามกลางเทคโนโลยีที่จะอยู่กับเรานานๆโดยมองดูในภาพรวมด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ความเร็ว CPU ที่มีตั้งแต่ ต่ำกว่า 1 GHz ไล่เรื่อยไปถึง 1.7 GHz พิจารณาที่ค่า
ยิ่งสูงยิ่งดี
2. จำนวนแกนของ CPU ที่มีตั้งแต่ Single Core, Dual Core จนถึง Quad Core
มาก core ยิ่งดี
แต่อาจจะไม่เสมอไป เพราะ ขนาด Apple iPhone 5 ยังแค่ Dual Core เนื่องจากจำนวนแกน CPU 2 แกนหรือ 4 แกน ไม่ใช่ตัวตัดสินว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่ากัน เพราะมันมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ Smart Phone ทำงานได้ลื่นไหล ซึ่ง Smart Phone ก็มีสถานะเช่นเดียวกับระบบคอมพิวเตอร์ ที่ต้องขับเคลื่อนประสานไปพร้อมกับ หน่วยประมวลผลการแสดงผล ซึ่งก็คือ GPU อยู่ที่ข้อที่ 5 และประสิทธิภาพของ Chip Set ในข้อที่ 6 ด้วย
3.ระบบปฏิบัติการ ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายค่าย อาทิระบบ iOS ของ Apple, ระบบ Android ของค่าย Google รวมถึง Windows Phone และ Symbian เป็นต้น
ตรงนี้แล้วแต่ความชอบ
4.ความละเอียดของหน้าจอแสดงผล มีทั้ง 320x240px, 480x360px, 480x800px,720x1280px, เป็นต้น
ค่ายิ่งมากยิ่งดี
5.GPU (Graphics Processing Unit) ที่เป็นหน่วยประมวลผลแปลงสัญญาณไปแสดงผลบนหน้าจอ ตอบสนองการแสดงผลของเม็ดสีต่อความเร็วทำให้การทำงานของ Apps ต่างๆในระบบทำงานได้เร็วขึ้น ลื่นไหลมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรายละเอียดทางเทคนิคของเครื่อง โดย GPU ที่มีการใช้งาน อาทิ Mali 400, Adreno 205, Adreno 225 หรือ PowerVR SGX 540 เป็นต้น ซึ่งกรณีตรงนี้ ควรศึกษาดีๆด้วย
6. Chip Set นับเป็นอีกส่วนที่สำคัญของระบบ Smart Phone ในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ การใช้งานที่ลื่นไหล การเชื่อมต่อ การรู้จักเทคโนโลยีองค์ประกอบภายใน รวมถึงความไวในการสื่อสารกับอุปกรณ์รอบข้าง
7.หน่วยความจำภายในสำหรับสนับสนุนการทำงาน ก็จะมีตั้งแต่ไม่กี่ร้อย MB ไปจนถึง 1 GB
ค่ายิ่งมากยิ่งดี
8. ประเภทและความจุแบตเตอรี่ ที่ปัจจุบันต้องเป็น LI-ION หรือ LI-Polymer
ความจุมีหลายขนาด หน่วยเป็น mAh ค่ามาตรฐาน ควรระดับสูงกว่า 1,500mAh ฟันธงในข้อนี้
ค่ายิ่งสูงยิ่งดี
9. Pixel Density ในข้อนี้นับเป็นส่วนสำคัญมากใน Smart Phone จำนวนจุด pixel ต่อตารางนิ้ว หรือค่า PPI ในการแสดงผล ซึ่งหากมีค่า PPI สูงก็เป็นส่วนสำคัญที่ให้ความคมชัดสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น Smart Phone ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ จึงต้องออกแบบให้มี ค่า PPI สูงขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่าง
iPhone 4s ขนาดหน้าจอ 3.50 นิ้ว มี Pixel Density ที่ 326 ppi
iPhone 5 ขนาดหน้าจอ 4.0 นิ้ว มี Pixel Density ที่ 326 ppi
Galaxy Note ขนาดหน้าจอ 5.30 นิ้ว มี Pixel Density ที่ 285 ppi
Galaxy Note II ขนาดหน้าจอ 5.50 นิ้ว มี Pixel Density ที่ 267 ppi
Galaxy S3 ขนาดหน้าจอ 4.8 นิ้ว มี Pixel Density ที่ 306 ppi
Sony Xperia Acro S ขนาดหน้าจอ 4.3 นิ้ว มี Pixel Density ที่ 342 ppi
ซึ่งตรงนี้ ภาพการโฆษณา จะไม่ค่อยปรากฏให้ผู้บริโภคเห็นมากนัก
ค่ายิ่งมาก ยิ่งดี
10.ความคมชัดของการแสดงผลค่าปกติ
อยู่ที่ 16.7 ล้านสี แต่ก็พบว่า มีค่าแสดงผลที่ต่ำกว่านี้ ซึ่งในหลายค่ายจะชูธงเรื่องความคมชัดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ
IPS (In-Plane Switching)ที่กินไฟต่ำความคมชัดสูง หรือ Super LCD หรือ Retina Display หรือ จะเป็น Super AMOLED กัน ซึ่งคู่ฟัดปัจจุบันจะอยู่ที่คู่ของ Retina Display และ Super AMOLED ที่ให้สีสุดสวย แต่บางเทคโนโลยีต้องแลกด้วยการใช้พลังงานแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างสูง ไม่ได้ว่า Super AMOLED นะครับ
11.ความทนทานต่อหน้าจอสัมผัสที่ควรจะทนต่อการขีดข่วนพอสมควร ที่ปัจจุบันมีใช้เทคโนโลยีประเภท Scratch-Resistant Display ในหลายชื่อ อาทิ Gorilla Glass หรือ Dragontail Glass เป็นต้น บางแบรนด์ก็จะทำหน้าจอให้มีความแข็งพิเศษทนต่อการกดทับทำให้แตกได้ง่ายที่เรียกว่า Shatter Proof
12.พื้นที่เก็บข้อมูล ส่วนใหญ่ จะมีพื้นที่ตั้งแต่ 4GB, 8GB, 16GB, 32GB
ยิ่งมาก ยิ่งดี ที่สำคัญความสามารถในการเพิ่มหน่วยความจำภายนอกหรือ External Storage ได้ก็จะดียิ่งขึ้น
13.ขนาดหน้าจอแสดงผล ก็นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญของ Smart Phone ด้วยปัจจุบันผู้ใช้ต้องเข้าถึง content ต่างๆบน Smart Phone ที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอ่านข่าวสาร อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ดูไฟล์มัลติมีเดีย นอกจากจะต้องมีความคมชัดของเม็ดสี(ในข้อ 4 แล้ว) ขนาดหน้าจอแสดงผลก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่สำหรับข้อนี้ แล้วแต่ผู้ใช้งานเป็นตัวกำหนด ขนาดหน้าจอ Smart Phone ที่นิยมผลิต และใช้จะอยู่ที่ประมาณ 4 นิ้ว (วัดตามแนวทะแยงนะครับ)
14.ความเป็นมัลติมีเดียต่างๆ อาทิ ระบบเสียง ความดัง ความชัดเจน ความไพเราะ รวมถึงส่วนสนับสนุนอาทิ การแสดงผลวิดีโอ ในระดับคุณภาพธรรมดา จนถึง HD มีวิทยุ หรือบางแบรนด์สามารถดูโทรทัศน์ได้ด้วย
การพิจารณา เอาเสียง และความสามารถการแสดงผลแบบ HD เป็นหลัก
15.ความสามารถในการถ่ายภาพ ความคมชัด ด้วยมาตรฐานเลนส์ต่างๆ อาทิ
Carl Zeiss Optics กล้องหลัก ความละเอียดจะอยู่ที่ 5-12 MP
ยิ่งมาก ยิ่งดี แต่ Nokia 808 PureView ให้ความคมชัดสูงถึง 41 MP
16.ค่ายความถี่ที่เลือกใช้ เพราะ Smart Phone บางแบรนด์ บางรุ่น รองรับไม่ครบทุกความถี่ ทำให้ใช้ได้กับค่ายมือถือบางค่าย ไม่สามารถครอบคลุมรองรับค่ายโทรศัพท์ในเมืองไทยทั้ง 3-4 รายได้ครบ (AIS, DTAC, TRUE,TOT) ดังนั้นต้องพิจารณาว่าท่านใช้ของค่ายใด หรือจะเลือกก่อนแล้วค่อยย้ายค่ายมือถือ เอาแบบชัวร์ๆ ก็
เอาเครื่องที่รองรับทุกค่าย ดีที่สุด
17.หากเลือกแบรนด์ที่โดนใจ แต่ไม่ใช่แบรนด์ยอดนิยมสิ่งที่ต้องระวังคือ
อาจจะหาเคส (Case) หรือกระเป๋าใส่ Smart Phone ยาก ซึ่งเหล่าแบรนด์ยอดนิยมอย่าง iPhone หรือ Samsung หรือ Nokia จะมี case ให้เลือกใช้ที่หลากหลายกว่าค่อนข้างจะเลือกหาแบบของเคสได้ง่าย
18.นอกจากนี้คงต้องดูในรายละเอียดพิเศษเฉพาะ ที่จะเป็นส่วนช่วยในการสนับสนุนการตัดสินใจ อาทิ
(1) ความชื่นชอบในแบรนด์เป็นการเฉพาะ
(2) Option พิเศษทางเทคนิคด้านถ่ายภาพ ต่างๆ อาทิ การมี กล้องหน้า/หลัง รองรับการถ่ายภาพที่ความละเอียดสูงๆ ถ่ายภาพแบบแนวกว้างพิเศษ (Panorama Mode และ 3D Sweep Panorama) การโฟกัสใบหน้าอัตโนมัติ การ zoom ภาพ ระบบป้องกันการสั่นไหวของรูปภาพ (Image Stabilization)
(3) Option พิเศษด้านการเชื่อมต่อ อาทิ Wi-Fi , Bluetooth หรือ NFC (Near Field Communication) สำหรับใช้การสื่อสารข้อมูลระยะใกล้
(4) การเชื่อมต่อสัญญาณไปแสดงผลที่จอภายนอกแบบ HDMI
(5) รองรับการใช้งาน SNS (Social Network Service) : Facebook หรือ Twitter ได้โดยตรง
(6) ถ่ายภาพวิดีโอที่ความละเอียดสูงๆได้ ปัจจุบันได้ระดับ HD
(7) และอื่นๆ ... วิทยุในตัว การทนต่อแรงกระแทกหรือกดทับ
สุดท้ายคือ ข้อที่ 19 ความชื่นชอบส่วนตัวของผู้ใช้ ที่จะมีน้ำหนักมากที่สุด
กรณีของผู้เขียนบทความ
หลังจากศึกษา Smart Phone ที่พอจะมีกำลังซื้อได้ คือ LG Optimus HD ค่าย Nokia Lumia 820 รวมถึง มองมาที่ค่าย Sony เล็งตระกูล Xperia รุ่น SL แล้วก็ ion และ Acro S เพื่อมาทดแทน Mobile Phone ตัวปัจจุบัน Nokia ที่เริ่มชราภาพ (ตั้งแต่ใช้มือถือมาก็ใช้ Nokia มาตลอด ถือได้ว่า เป็นสาวกของ Nokia แต่ด้วย Nokia รุ่นที่หวังจะครอบครองเป็น series Lumia 820 ที่ run ด้วยระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8 ยังไม่ออกวางจำหน่าย แม้จะมีราคาที่ประกาศออกมาที่ 16,000 กว่า.... แต่จากข่าวว่าจะลงตลาดก็ช่วงสัปดาห์ที่ 4 เดือน พฤศจิกายน ซึ่งกลัวว่า Nokia ที่ใช้อยู่ จะสิ้นชีพไปก่อนเวลา)
จากการศึกษาข้อดี ข้อเสีย และเทียบ Spec และราคา ในรุ่นต่างๆ แล้ว เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน จึงตัดสินใจถอย Smart Phone น้องใหม่ ตัวที่ 4 ของชีวิตการมีการใช้ Mobile Phone เป็น Smart Phone นาม Xperia Acro S ของ Sony ด้วยค่าตัว 15,990 บาท
ด้วยจุดเด่นที่ แบรนด์ ขนาด ราคา คุณภาพทางเทคนิคที่กล้องที่ดีกว่า ความละเอียดของการแสดงผลที่สูง การทำงานที่ราบรื่น เชื่อมั่นในระบบปฏิบัติการ Chip set/GPU ประสิทธิภาพด้านมัลติมีเดีย และการเชื่อมต่อ รองรับค่ายมือถือทุกความถี่ คุณลักษณะพิเศษในการทนต่อฝุ่นและน้ำ และทำใจยอมรับ
ข้อด้อยด้านแบตเตอรี่ที่เปลี่ยนไม่ได้(ซึ่งคงไม่เสียในช่วง 5 ปีแน่ๆ..ปลอบใจตัวเอง) หาเคสไว้หุ้มยากหน่อย และอุณหภูมิที่อาจจะร้อน ..เพราะท่าทางอาจจะไม่มีช่องระบายความร้อน
ที่ร่ายยาวมานี่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่กำลังจะเขียนนั้นคือ Sony Xperia Acro S ถูกกล่าวขวัญว่า เป็น Smart Phone ในจำนวนไม่กี่ตัวที่มีมาตรฐาน Ingress Protection Ratings (IP) โดย Sony Xperia Acro S ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน IP55 และ IP57 ทำให้สามารถกันฝุ่นละออง กันน้ำได้ที่ความลึก 1 เมตร (ได้ 30 นาที) แต่ไม่ขอทดสอบ ถ้าจะดูการทดสอบดูได้จากวิดีโอด้านล่าง
ทำให้เกิดความสงสัยว่าเจ้า IP คืออะไร (รู้แต่ IP เครือข่ายคอมพิวเตอร์) ดังนั้นจึงทำการศึกษาเลยเข้าใจ ก็ขอนำมาแบ่งปันกัน
IP - Ingress Protection Ratings คือ มาตรฐานที่ใช้วัดความสามารถความทนทาน ในการป้องกันสิ่งที่คาดว่าจะเป็นอันตรายต่ออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ Tablet PC หรือ Smart Phone มาตรฐาน IP นี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย European Committee for Electro Technical Standardization (CENELEC) (NEMA IEC 60529 Degrees of Protection Provided by Enclosures - IP Code) ซึ่งการจัดอันดับของระดับการป้องกันจะแสดงด้วยตัวเลข 2 หลัก
ซึ่งหลักแรกจะแแสดงความสามารถในการป้องกันของแข็ง และหลักที่สองจะเป็นความสามารถในการป้องกันของเหลว รูปแบบการแสดงมาตรฐานจะเป็น IPXX ซึ่ง XX คือ ค่าตัวเลข IP45, IP57เป็นต้น
เรามาดูความหมายของตัวเลขหลักแรก ที่เป็นส่วนของแข็งกัน
0 = ไม่ป้องกันอะไรเลย
1 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 50 มิลลิเมตร เช่น การเผลอไปจับตัวกล้องด้วยมือ
2 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 12 มิลลิเมตร เช่น เผลอแตะด้วยนิ้ว
3 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีตั้งแต่ 2.5 มิลลิเมตรขึ้นไป เช่น เครื่องมือ สายไฟ
4 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไป เช่น เครื่องมือ สายไฟ และสายไฟขนาดเล็ก
5 = สามารถป้องกันฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง
6 = สามารถป้องกันฝุ่นได้
ความหมายของตัวเลขหลักที่สอง ในการทนต่อสภาพของเหลว
0 = ไม่ป้องกันอะไรเลย
1 = สามารถป้องกันน้ำหยดใส่ได้ เช่น หยดน้ำที่เกิดจากความชื้น
2 = สามารถป้องกันละอองน้ำที่เข้ามาในมุมไม่เกิน 15 องศาจากแนวตั้ง
3 = สามารถป้องกันละอองน้ำที่เข้ามาในมุมไม่เกิน 60 องศาจากแนวตั้ง
4 = สามารถป้องกันละอองน้ำได้จากทุกทิศทาง
5 = สามารถป้องกันน้ำได้ในระดับหนึ่ง
6 = สามารถเปียกน้ำได้แต่ไม่นาน เช่น โดนฝน
7 = สามารถจุ่มน้ำได้ที่ความลึกตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร
8 = สามารถใช้งานใต้น้ำได้
มาตรฐานข้างต้นใช้ในอุปกรณ์ Mobile Device ทุกชนิด ขึ้นอยู่กับว่า จะทดสอบมาตรฐานเหล่านี้ไหม หากท่านมี Mobile Device แล้วมีการรับรองมาตรฐาน IP นี้ ก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า Mobile Device ท่านทนต่อภาวะที่มากกว่าอุปกรณ์ปกติอยู่พอสมควร
ตัวอย่าง Sony Xperia Acro S มีมาตรฐาน IP57 หมายความว่า Smart Phone ตัวนี้สามารถป้องกันฝุ่นได้ ในระดับหนึ่ง และสามารถป้องกันน้ำได้ในระดับความลึกถึง 1 เมตร ชั่วระยะเวลา 30 นาที (หากสนใจประเภทกันฝุ่นได้ซึ่งดีกว่า Xperia Acro S ในตระกูล Xperia เช่นกันก็มีอยู่ 1 รุ่นคือ Sony Xperia Go ที่มีมาตรฐาน IP67)
Sony Xperia Acro S กันน้ำได้จริงแค่ไหนลองดูบททดสอบโดยฝีมือคนไทย ทำได้เยี่ยมและน่าสนใจดี ไว้พบกันใหม่ในบทความต่อไป
อ้างอิงและขอขอบคุณ