จากนโยบายของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ที่ได้แถลงต่อ ที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 มีนโยบายข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศก็คือ นโยบายการแจก Tablet PC ประจำตัวนักเรียน หรือ ที่เรียกว่า One Tablet Per Child โดยจะเริ่มทยอยแจก เริ่มที่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ และช่องทาง สำหรับการเรียนยุคใหม่
โดยเนื้อแท้ นโยบายของรัฐบาลดังกล่าว เป็นแนวคิดที่จะนำเอาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามาประยุกต์ใช้ กับการเรียนรู้ ของนักเรียนในอีกรูปแบบ โดยการใช้ Tablet PC มาเป็นเครี่องมือในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาหาความรู้ ฝึกปฏิบัติ และสร้างองค์ความรู้ต่างๆตามศักยภาพและความพร้อม ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวนี้ มีบ้างแล้วในต่างประเทศหลายประเทศ สำหรับแถบเอเซียก็มี เกาหลีใต้ หรือ อินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนอยู่บ้าง ในสถานศึกษา ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาบางแห่ง
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูอยู่ในวงการศึกษามาเกือบทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนถึงสอนในระดับปริญญา และเป็นผู้หนึ่งที่ใช้เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร เป็นเครื่องมือ และช่องทาง ในการจัด ในการสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ พบว่า กระบวนการจัดการศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วยแกนของเทคโนโลยีจริงๆ อาศัยแค่ Device ซึ่งในที่นี้ก็คือ Tablet PC นั้น คงไม่เพียงพอ แม้ว่าจะได้ทราบข่าวว่า มีการเตรียมการพัฒนาตัว Content ซึ่งทราบว่า จะอยู่ในสภาพของ e-paper (แปลสภาพจากหนังสือ แบบเรียน ที่อยู่ในรูปกระดาษ มาเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์) ก็ไม่ได้สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้เท่าใดนัก ส่วนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบ interactive ในรูปของ LO หรือ Learning Object ซึ่งถือเป็นสื่อเรียนรู้ที่มีพลังในการตรึงพฤติกรรมการเรียนรู้ได้ยาวนานขึ้นนั้น คงต้องใช้เวลา ในการผลิต อีกทั้งต้นทุนในการดำเนินการผลิตในแต่ละเนื้อหา หรือบทเรียนค่อนข้างสูง จากองค์ประกอบ 2 ประการข้างต้น ก็ยังไม่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มผู้เรียนได้ ยังมีองค์ประกอบอื่นๆที่สำคัญอีก เรามาศึกษาถึงองค์ประกอบกันอย่างละเอียด
1. Device
จากการที่ได้เกริ่นนำไปแล้วว่าการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยี สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ อุปกรณ์ ซึ่งอุปกรณ์หลักในที่นี้ ก็คือ Tablet PC แต่ในความเป็นจริงแล้ว็คงไม่ใช่จะมีเฉพาะแค่ตัว Tablet PC เท่านั้น ยังต้องมีอุปกรณ์ที่เป็นองค์ประกอบสนับสนุนต่างๆ อีกหลายๆอย่าง อาทิ อุปกรณ์สำหรับแพร่สัญญาณ WiFi อุปกรณ์ระบบการเชื่อมต่อเครือข่าย ชุดคอมพิวเตอร์ สำหรับ backup กิจกรรม งานการเรียนการสอน รวมถึงแต่ละสถานศึกษาต้องมี Tablet PC สำรองไว้เพื่อทดแทนกรณีตัวที่ผู้เรียนชำรุด
สรุป Device ที่จำเป็น หมายถึง
- Tablet PC
- Computer set
- Network System
- อุปกรณ์ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย WiFi
- ชุดอุปกรณ์สนับสนุนระบบต่อพ่วงต่างๆ
2. Content
ในส่วนนี้หมายถึงเนื้อหา ที่ใช้ในการเรียนการสอน จะอยู่ในรูปของไฟล์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย
- e-Paper ไฟล์เอกสารหนังสือที่ถูกเปลี่ยนสภาพจากกระดาษ มาเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์
- LO : Learning Object ก็คือหน่วยการเรียนรู้เฉพาะเรื่อง ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบขิงไฟล์ Streaming multimedia interactive
- Web-based จะเป็นเอกสารเว็บที่ถูกพัฒนา รองรับการเรียนรู้เมื่อเชื่อมต่อกับเครือข่าย
- e-Knowledge Sheet ก็คือใบงานอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมทางการศึกษา
3. Teacher & Instructor
ตรงส่วนนี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนของสถานศึกษา ซึ่งครูต้องมีความชำนาญในการใช้งานอย่างดี แต่ สภาพจริงๆ เชื่อได้ว่า มีครูผู้สอนใช้ Tablet PC เป็น คงมีไม่กี่เปอร์เซนต์ ดังนั้นเพื่อให้การจัดการศึกษา ในรูปแบบนี้ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามลักษณะเฉพาะของ Device ต้นสังกัดจะต้องเตรียมความพร้อมให้กับครู ใน 2 ด้าน คือ
- ความรู้ในการใช้งาน Tablet PC
- ความรู้กระบวนการ เทคนิควิธีการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพผ่าน Tablet PC
e-paper และ LO นั้น คาดว่าคงเป็นการเตรียมการเฉพาะปีแรก ซึ่งก็คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเมื่อนักเรียน เรียนในชั้นที่สูงขึ้น ก็จำเป็นต้องมีแบบเรียนเพิ่ม ซึ่งการเพิ่มเติมบทเรียน คงไม่ทำแบบ update ผ่านกระบวนการ offline ไปทีละเครื่องแน่ ดังนั้นการ update ผ่านระบบ online ก็ต้องพึ่งพาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อีกทั้งการเรียนรู้ก็คงไม่จำกัดเฉพาะสาระในตัว Tablet PC เท่านั้น คงต้องเปิดโอกาสให้ไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ซึ่งตัว tablet PC จำเป็นต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตไร้สายหรือ WiFi ซึ่งในสถานศึกษาหลายแห่ง ระบบไร้สายยังไม่ได้ทำการติดตั้งและระบบไร้สายที่ต้องรองรับการใช้ Tablet PC หลายๆเครื่องก็ต้องมีระบบ ประสิทธิภาพ ความเร็วที่สอดคล้องกับขนาดของสถานศึกษา รวมถึงต้องรองรับช่องสัญญาณที่เสถียรภาพด้วย ที่สำคัญระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายจะต้องมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ด้วยการกำหนดสิทธิ์ การจัดการเครือข่าย และการเก็บข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ ตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า Tablet PC มีความเปราะบางต่อแรงตกกระแทก รวมถึงฝุ่น ความชื้น โดยเฉพาะน้ำยิ่งอยู่ในมือเด็กด้วยแล้ว ปัจจัยนี้จะเป็นปัญหาที่น่าคิด แม้ว่าสถานศึกษา จะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้ แต่สภาพความเป็นจริง ตัวเครื่อง Tablet PC และอุปกรณ์สนับสนุนอื่นๆ คงต้องมีการชำรุดเสียหายไปตามสภาพและกาลเวลา สถานศึกษา เกือบทุกแห่งขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ในเรื่องการดูแล แก้ไขปัญหา
ซึ่งคงเป็นปัญหาใหญ่อีกประการที่คงต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคนิค หรือดำเนินการพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ คงต้องจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับซ่อมบำรุง รวมถึงตัว Tablet PC ไปทดแทน กรณีที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมด้วย เพื่อไม่ให้ระบบการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องพลาดโอกาส
ซึ่งงานนี้ นับว่าเป็นโจทย์สำคัญที่ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. ต้องคิด และเตรียมการวางแผน อย่างรอบครอบ เพื่อให้การจัดการศึกษา ที่ใช้ Tablet PC เป็นอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่ใช้ในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมรับมือจากปัญหาต่างๆที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้น ในภาคเรียนแรกของปี 2555 ที่มีการใช้ Tablet PC ในสถานศึกษา แต่จากการเตรียมความพร้อม ตามที่ เลขา สพฐ. ได้กล่าว ตามข่าว ก็น่าจะมั่นใจในระดับหนึ่งถึงความพร้อมในการเตรียมการณ์
และจากโครงการในครั้งนี้ สำนักงาน กศน. ก็ได้รับการจัดสรร Tablet PC จำนวน 1,000 เครื่อง ซึ่งทางสำนักงาน กศน. จะบรรจุเนื้อหาสาระหลักสูตร กศน. แล้วจัดเฉลี่ยนส่งให้แต่ละจังหวัด นำไปไว้ในรถโมบาย เคลื่อนที่ เพื่อให้บริการไปยัง กศน.ตำบลต่างๆ ในพื้นที่ ที่รับผิดชอบ